สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพัฒนาการเพาะปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ในโรงเรือน (Greenhouse) ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและประชาชนเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาได้มากขึ้น

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เวลา 10.00 น. ที่วิสาหกิจชุมชนคลองจิก อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันเจริญวรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (Greenhouse)” โดยมีนายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอินกล่าวต้อนรับ และคณะผู้บริหารสาธารณสุขจังหวัดเเละผู้บริหารในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมในพิธี โดยมีแขกรับเชิญพิเศษอย่าง นพ.สมยศ กิตติมั่นคง หมอดังเจ้าของเพจ Dr.Somyot และคุณอร่าม ลิ้มสกุล (ลุงดำ เกาะเต่า) นักพัฒนาสายพันธุ์กัญชาพื้นเมืองไทยมาร่วมจัดเสวนาเรื่องประสิทธิผลการใช้กัญชาในการรักษาโรค

นายสุรศักดิ์กล่าวว่า นโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชามีสิทธิเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมและปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็น โครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ระดับตำบลจึงได้เกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่นี่ถือเป็นแห่งแรกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจุดมุ่งหมายหลักเพื่อผลิตกัญชาเมดิคัลเกรดที่มีคุณภาพเพื่อนำไปผลิต16ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสม และผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาตำรับหมอพื้นบ้านเพื่อไว้ให้บริการด้านสาธารณสุขแก่พี่น้องประชาชนชาวพระนครศรีอยุธยาต่อไป

 

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นพ.พีระ อารีรัตน์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงความต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยยังจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ผ่านการอบรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมาตรการการเก็บข้อมูลผลการรักษาเพื่อนำไปศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เป็นมาตรฐานไว้สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเพื่อนำยาจากกัญชาไปใช้ในการรักษาโรคหรืออาการของโรคต่าง ๆ อีกทั้งยังจะช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ต่อไป

 

นางธัญยธรณ์ ธัญสิริพิสิฐ ประธานวิสาหกิจชุมชนกล่าวว่า ระยะต่อไปวิสาหกิจชุมชนจะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบ เปลือก ลำต้น และรากให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ด ครีม แผ่นแปะ ยาเหน็บ แคปซูลเจลเพื่อให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมอีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ถอดถอนใบ เปลือก ลำต้น และรากกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท5 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 เช่นกัน

 

นายทศพร ธิใจ ตัวแทนที่ปรึกษาและคณะทำงานได้อธิบายว่า ทางโครงการได้เชิญนายวรพงศ์ เพิ่มพูน ผู้เชี่ยวชาญด้านดินอินทรีย์เพื่อเตรียมดินที่ใช้ในการเพาะปลูกด้วยวัสดุปลูกคุณภาพสูงที่นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนซึ่งเป็นดินปลูกมาตรฐานเมดิคัลเกรดเช่นเดียวกับต่างประเทศ รวมถึงการนำเทคโนโลยี IOT (Internet of things) มาร่วมบันทึกข้อมูลและบริหารจัดการกิจกรรมการเพาะปลูกในแปลงซึ่งสามารถสั่งงานระยะไกลและตรวจสอบอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์บนอากาศและภายในดินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตามนโยบายเกษตร 4.0 ของภาครัฐเพื่อสำรองข้อมูลไว้ศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มคุณภาพสารสำคัญและลดต้นทุนการผลิตช่อดอกกัญชาต่อไปในอนาคต