DPU นำเทคโนโลยี VR เสริมแกร่งการเรียนรู้ยุคโควิด

สร้าง “เด็กการท่องเที่ยว” ที่อยู่เป็นทุกการเปลี่ยนแปลง

 

“อาจารย์ คือมันก็สวยนะคะ แต่ทำไมมองไปทางไหนก็มีแต่ดินกับทราย โล๊งโล่ง! ไม่มีอะไรเลย”

“ก็ตอนนี้เราอยู่กลางทะเลทรายนี่คะ แหม…พูดเหมือนครูไม่เคยเอาวิดีโอให้ดูว่าทะเลทรายเป็นยังไง”

“มันไม่เหมือนกันสิอาจารย์ คือ ดูวิดีโอกับมายืนอยู่กลางที่จริงอ่ะค่ะ ฟีลมันต่างนะอาจารย์”

บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อ นางสาวภควดี วรรณพฤกษ์  (ปีย์) อาจารย์ประจำคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ส่งนักศึกษาไปเดินสำรวจเขตทะเลทรายทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย แน่นอนว่าค่าเทอมของคณะไม่ได้แพงขนาดจะตีตั๋วพานักศึกษาไปออกทริปที่ออสเตรเลียได้ ก็เลยต้องหาวิธีพิเศษ…แบบล้ำๆ ที่จะพานักศึกษาไปสัมผัสทะเลทรายสีสนิมชื่อดังของแดนจิงโจ้ โดยที่ตัวยังอยู่เมืองไทย แบบไม่ต้องเสียเงิน แถมไม่เสี่ยงติดโควิดอีกด้วย

ต้องลงทุนกันขนาดนี้เพราะโบราณท่านกล่าวไว้ว่า สิบปากว่าก็ไม่เท่าตาเห็น

อาจารย์ปีย์ เล่าว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้สอนวิชาด้านการท่องเที่ยว คือ การสร้างทักษะให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติงานในสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แม้ว่าการเดินทางไปเรียนรู้ถึงสถานที่จริงจะสามารถสร้างความเข้าใจได้มากที่สุด แต่ต่อให้ออกภาคสนามกันบ่อยแค่ไหน (บ่อยจนนักศึกษาซักเสื้อผ้าไม่ทัน) ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพาไปได้ทุกที่ จึงถือว่าโชคดีที่ปัจจุบันมีทั้งสื่อการท่องเที่ยวและเครื่องมือดิจิทัลหลากหลายให้เลือกใช้ประกอบการสอน ช่วยนักศึกษาเสริมความเข้าใจเพิ่มเติมจากการอ่านหนังสือและฟังบรรยายได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือเหล่านี้ก็มีขีดจำกัดในด้านการถ่ายทอดการสัมผัสรับรู้และความรู้สึกที่ได้จากการไปสัมผัสสถานที่จริง หรือที่นักศึกษาชอบเรียกกันว่า ฟีลลิ่ง ซึ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้ง หากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในไทย นักศึกษาอาจเติมเต็มส่วนที่ขาดนี้ด้วยความคุ้นเคยกับสภาพบ้านเมืองและสังคมไทยรวมถึงประสบการณ์ท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ แต่พอเป็นแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้ว นักศึกษามักไม่มีพื้นฐานมากพอที่จะช่วยให้การจินตนาการตามที่สอนได้ นักศึกษาอาจจะรู้ว่าทะเลทรายเป็นภูมิประเทศแบบใด แต่นึกไม่ออกว่าความกว้างและเวิ้งว้างของทะเลทรายนั้นมีลักษณะอย่างไร

จึงเป็นโจทย์ใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับการเรียนรู้จากสถานที่จริงมากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเยือนสถานที่นั้นจริง ซึ่งในแวดวงการศึกษายุคดิจิทัลตอนนี้ ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Virtual Reality (VR) เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว

หลายคนอาจจะเคยเห็นเทคโนโลยีนี้ในรูปแบบของอุปกรณ์คล้ายแว่นตาสำหรับใส่ครอบศีรษะ ซึ่งผู้สวมใส่จะมองเห็นแต่สิ่งที่ปรากฏบนแว่นไม่ว่าจะหันศีรษะมองไปทางไหน เป็นการตัดขาดผู้ใช้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยสิ้นเชิง และทำให้รู้สึกเสมือนเข้าไปอยู่ในความจริงอีกโลกหนึ่ง

การนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในการท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องใหม่ คำว่า Virtual Tourism หรือการท่องเที่ยวเสมือนจริงเริ่มได้รับการพูดถึงตั้งแต่ช่วงที่ Google Map เปิดตัวฟังก์ชั่น Street View และชุดภาพถ่าย 360 องศาของสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างพระราชวังแวร์ซาย ที่อวดความอลังการของพระราชวังตั้งแต่พื้นหินอ่อนจรดภาพจิตรกรรมบนเพดาน แม้ว่าในช่วงแรกจะมีความกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจทำให้คนสนใจไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวน้อยลงเพราะได้เห็นทุกอย่างจากภาพถ่ายและวิดีโอแล้ว แต่การศึกษาวิจัยกลับพบว่าสื่อ VR ทำให้คนอยากเดินทางไปสัมผัสของจริงมากขึ้น

ปัจจุบัน Virtual Tourism จึงกลายเป็นเครื่องมือการตลาดใหม่ของการท่องเที่ยวยุคดิจิตัลจำนวนสื่อ Virtual Tourism ยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ COVID-19 ถึงแม้จะออกจากบ้านไปไหน

ไม่ได้ เพียงแค่สวมใส่แว่นตา VR ก็สามารถเที่ยวชมเมืองเวนิสในภาวะล็อคดาวน์ผ่านสารคดี VR ชุด When We Stayed Home หรือแม้แต่การพิชิตขั้วโลกใต้กับเกมจาก National Geographic

ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยี Virtual Reality ที่กล่าวมา คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงได้จัดชุดอุปกรณ์ VR (Oculus Quest) มาทดลองใช้เสริมการเรียนรู้ในวิชาภูมิศาสตร์โลกเพื่อการท่องเที่ยว ให้นักศึกษาใช้สำรวจเมืองและแหล่งท่องเที่ยวที่สนใจผ่านแอพลิเคชั่น Wander ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นที่ดึงข้อมูล Street View และภาพถ่าย 360 องศาของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆจาก Google Map

นักศึกษาที่ได้ทดลองใช้งานต่างมีความเห็นว่า ได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ และการเยือนสถานที่ท่องเที่ยวแบบเสมือนจริง ช่วยให้คลิ้กในสิ่งที่เรียนรู้จากห้องเรียน ด้วยการเปลี่ยนข้อมูลแห้งๆที่ต้องพยายามจำ ให้กลายเป็นความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นได้

แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่การออกเดินทางท่องเที่ยวยังคงเป็นความต้องการที่ฝังลึกในตัวมนุษย์แทบทุกคน จึงเชื่อได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึงยึดมั่นในการผลิตบุคลากรทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการขยายผลการใช้เทคโนโลยี VR เพื่อสนับสนุนการสอนของวิชาที่ต้องระงับการออกภาคสนามอันเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ COVID-19 โดยหวังว่าจะช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ใกล้เคียงการออกภาคสนามที่สุด

เพราะเด็กท่องเที่ยวยุคโควิดต้องมีความสามารถไม่แพ้รุ่นพี่ ตรงกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ว่า อยู่เป็น…ทุกการเปลี่ยนแปลง