ถ่านหินกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและโลก

 

 

 

จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ในปัจจุบัน รัฐบาลในหลายประเทศพยายามผลักดันพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติ เช่น พลังงานชีวมวลจากวัสดุทางการเกษตร ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสัตว์ น้ำเสียโรงงานยางพาราหรือโรงงานปาล์มที่มีอินทรียสารสูง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ถ่านจากไม้ฟืนที่เกิดจากไม้โตเร็ว ขยะ การแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง ไอเสียร้อนและอากาศร้อนจากกระบวนการผลิตในโรงปูนซิเมนต์ การนำเอาน้ำมันจากพืชมาทดแทนน้ำมันจากปิโตรเลียม บางประเทศ รัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมมาก ให้เงินอุดหนุนมาก บางประเทศก็ลดการอุดหนุนลง บางประเทศก็เลิกให้การอุดหนุนเพราะกระทบต้นทุนและค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งผลกระทบจากการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนทำให้ศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง โดยสาเหตุหลักมาจากกระแสความนิยมในเรื่อง นวัตกรรม ดิสรัปทีฟเทคโนโลยี         ดิจิตัลทรานฟอร์เมชั่น สตาร์ทอัพผู้ประกอบกิจการพลังงานรุ่นใหม่ และ ที่สำคัญคือ การอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้ออ้างในเรื่องโลกร้อน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม มักจะมีข้อด้อยในเรื่องของความเจือจาง (Diluteness) และ ความไม่ต่อเนื่อง (Intermittency) ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงต้องใส่เม็ดเงินลงทุนในการแก้ปัญหาความเจือจาง โดยการเพิ่มการใช้ ที่ดิน หรือ พื้นที่ หรือ พื้นที่หลังคาหรือดาดฟ้า และ ใส่เม็ดเงินลงทุนในการแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่อง โดยการเก็บสะสมพลังงานไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น แบตเตอรี่ (Battery) หรือ เขื่อนพลังน้ำสูบกลับขึ้นไปเก็บที่สูง (Pump Storage) หรือ แม้กระทั่งการสั่งตัดการใช้ไฟฟ้าที่สามารถตัดได้ของผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับ Intermittency ของระบบผลิตพลังงาน หรือ ที่เรียกว่า Demand Response เป็นต้น

และหากมองพลังงานตัวอื่นที่มีต้นทุนถูก และ ยังคงเป็นหลักในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ  เช่น เขื่อนขนาดใหญ่  นิวเคลียร์  ถ่านหิน  มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และ ถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือรัฐที่พัฒนาแล้ว  

 

“สวีเดน และ สวิส”  ใช้เขื่อนกับนิวเคลียร์เป็นหลัก ตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสามารถกักเก็บน้ำได้  

“นอร์เวย์” ใช้เขื่อนเป็นหลัก และมีไฟฟ้าจากเขื่อนมากจนกระทั่งสามารถที่จะให้เงินภาษีสนับสนุนรถไฟฟ้าส่วนบุคคล EV  ฝรั่งเศสใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์

“สหรัฐอเมริกา จีน และ เยอรมัน” ใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน นิวเคลียร์ และเขื่อน

“ไต้หวัน” ประเทศเป้าหมายที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานเป็นอันดับหนึ่ง ใช้ไฟฟ้าจาก ถ่านหิน และ นิวเคลียร์

“อินเดีย” ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเป็นหลัก 

“ญี่ปุ่น” หลังจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ญี่ปุ่นก็เริ่มกลับมาใช้นิวเคลียร์ แต่ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นเพิ่มการใช้ถ่านหินนำเข้าและก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas หรือ LNG) มาใช้เป็นหลักมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า

 

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐออกจาก Paris Climate Accord ในปี 2017 ซึ่งหมายถึง การไม่ตกลงอะไรในเรื่องนี้ ไม่ต้องผูกพันกับการเอาเงินงบประมาณจากผู้เสียภาษีมาใช้ในการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสุดลิ่ม           เพื่อนักอนุรักษ์เพียงบางกลุ่ม  และหันกลับมาใช้ถ่านหิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และดึงงานการผลิตอุตสาหกรรมที่ไปจ้างผลิตในต่างประเทศ เช่น จีน หรือ ญี่ปุ่น หรือ ประเทศอื่น ๆ กลับมาให้คนในสหรัฐอเมริกาทำ ในขณะที่ รัสเซีย จีน และ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการทหาร ก็ไม่อนุญาตให้ NGO เข้ามาทำการเคลื่อนไหว รณรงค์ หรือ จัดกิจกรรม ต่อต้านถ่านหิน  

ในส่วนของจีนได้ลงทุนขยายกิจการโครงสร้างพื้นฐานด้านท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินขนาดยักษ์อย่างต่อเนื่อง จนมีขีดความสามารถในการขนถ่าย (Throughput Capacity) สูงสุดถึง 400 ล้านตันต่อปี ที่ Qin Huang Dao มณฑลเหอเป่ย นอกจากนี้ยังพัฒนาเส้นทางรถไฟภายในประเทศที่จะสามารถขนส่งถ่านหินไปตอนในของประเทศระยะทาง 1,800 กิโลเมตร ปริมาณ 200 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย One Belt One Road หรือ Belt and Road Initiative

ปัจจุบัน 40% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในโลกมาจากถ่านหิน  โดยเอเชียใช้มากกว่า 60% (อินเดีย 71% จีน 76%) ในขณะที่ประชากรเกือบครึ่งโลก  ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าได้  ถ่านหินยังคงเป็นพลังงานฐานที่สำคัญ ซึ่งเขื่อนพลังงานน้ำขนาดใหญ่ และนิวเคลียร์จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ออสเตรเลีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับ 1 และ 2 ของโลก แนวโน้มในอนาคต ไทยและโลกจะยังคงใช้ถ่านหินในปริมาณเพิ่มขึ้น  แต่สัดส่วนในการใช้เมื่อเทียบกับพลังงานตัวอื่น ๆ จะลดลง เพราะจะมีการใช้ เขื่อนขนาดใหญ่ หรือ นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่เทียบกันได้ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของโลกก็อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น อัลบอร์ก โคเปนเฮเกน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ปักกิ่ง เป็นต้น

          สถานการณ์ถ่านหินต่อไปของไทย จะยังคงวนเวียนอยู่กับ การสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่พัฒนาถ่านหิน แต่จะถูกคัดค้านจาก NGO คนนอกพื้นที่ ที่เข้าไปจัดตั้งเครือข่ายประชาสังคมในการคัดค้านถ่านหิน โดยกลุ่มผู้คัดค้านได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศและเงินบริจาคในประเทศ และทำให้ไทยต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจาก LNG และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะไม่ทำให้ไทยก้าวข้าม Middle income trap ได้ไปอีกนาน

 

แนวทางที่ไทยต้องเร่งทำ ได้แก่

(1)    เร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนในลักษณะ Massive Information Technology

(2)    บรรจุความรู้เรื่องถ่านหินให้เป็นทางเลือกของ เยาวชน นักเรียน หรือ นักศึกษา เมื่อจบแล้วพร้อมที่จะออกไปทำงานในกิจการถ่านหินได้

(3)    การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับการให้ข้อมูลที่ผิดๆกับสังคม

(4)    แม้จะมีอุปสรรคในการพัฒนา โครงการขนาดใหญ่ ผู้พัฒนาโครงการต้องสามารถดำเนินการบางอย่างได้หากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ผ่านการพิจารณาแล้ว เช่น การจัดหาจัดซื้อที่ดินที่ได้ตกลงกันก่อนแล้ว หรือ การพัฒนาที่ดินที่จะดำเนินโครงการ

(5)    หน่วยงานภาคเอกชนหรือภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการขนาดใหญ่ ไม่เพียงแค่กระทรวงพลังงาน เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมเรือ กรมเจ้าท่า เป็นต้น จะต้องช่วยกันให้ความรู้กับประชาชน

(6)    การจัดนิทรรศการ หรือ จัดสัมมนาให้ความรู้กับประชาชน เรื่อง ข้อดีข้อเสียของถ่านหิน เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะนำมาใช้กับถ่านหิน การขนส่งถ่านหิน การคลังถ่านหิน เป็นต้น

(7)    ประชาสัมพันธ์การจัดประกวดกิจการถ่านหินซึ่งดำเนินการประกวดโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่แล้ว

(8)    การพาประชาชนไปดูงานพร้อมผู้เชี่ยวชาญให้คำอธิบาย การใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้า โรงปูน โรงกระดาษ โรงพิมพ์ โรงประปา เพื่อให้รู้จักประโยชน์ของถ่านหินในเชิงประจักษ์

(9)    สำรวจการยอมรับของชุมชนรอบๆ กิจการเป็นระยะ เพื่อนำมาวางแผนในการทำงานให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน

(10)การจัดทำฐานข้อมูลและแสดงข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อให้ประชาชนสามารถเช็คหรือรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับกิจการที่ใช้ถ่านหินได้

(11)การพัฒนาท่าเทียบเรือถ่านหินเพื่อเป็นศูนย์กระจายถ่านหินได้อย่างเป็นระบบ เป็นมิตรต่อชุมชน และ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(12)การเข้มงวดเกี่ยวกับการขนถ่ายจากเรือโป๊ะ กองเก็บถ่านหิน โดยเฉพาะในระบบเปิดที่จะต้องมีระบบกำแพงลดความเร็วลม สปริงเกอร์หรือการสเปรย์น้ำ การตรวจวัดความเร็วลม ผ้าคลุม การป้องกัน การดูแลลำน้ำขนส่งถ่านหิน การรีไซเคิลน้ำในลานกองถ่านหิน เพื่อนำกลับมาใช้สเปรย์ใหม่ เป็นต้น

(13)การออกกฎหมายและกำกับกิจการถ่านหินให้เป็นธรรมและตรวจสอบได้กับทุกฝ่าย

(14)พัฒนาบุคลากร และ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ต้นน้ำ (เช่น การขนส่ง ท่าเทียบเรือน้ำลึก การขนถ่าย ประสิทธิภาพ และ ความปลอดภัย เป็นต้น) กลางน้ำ (เช่นการกระจายถ่านหิน ทางเรือ ทางรถบรรทุก ทางรถไฟ การกองเก็บในระบบเปิด หรือ อาคารระบบปิด) และ ปลายน้ำ (เช่นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม ที่ใช้หม้อไอน้ำ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง การติดตั้งและควบคุมระบบดูดจับไอเสีย เป็นต้น)

 

โดยพื้นฐานของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ต้องใช้ทรัพยากรและเงินลงทุนเพื่อต่อสู้กับ ความเจือจาง และ ความไม่ต่อเนื่อง ในการผลิตไฟฟ้าให้พอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า อีกด้านหนึ่ง การพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ใช้ถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด จะมีส่วนสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางพลังงานไว้ รักษาราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถจ่ายได้ และกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูงมาก “ถ่านหิน” ยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีความท้าทายที่จะต้องเผชิญ ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน มีจุดยืนที่แน่นอน บริหารจัดการเชื้อเพลิงอย่างสมดุล เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีราคาที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของไทยต่อไป

 

บทความโดย

ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

 

>>>>>>>>>>>>>>>